หลักการและเหตุผลในการจัดตั้งเป็นเทศบาลตำบลดอนหวาย
หลักการ
องค์การบริหารส่วนตำบลดอนหวายได้จัดตั้งตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2542 ครอบคลุมพื้นที่ หมู่บ้าน 7 หมู่บ้าน มีพื้นที่ทั้งหมด 20.49 ตารางกิโลเมตร มีการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความต้องการด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเพื่อรองรับความเจริญของท้องถิ่น และประโยชน์ในการปรับปรุงการบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น และเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ในการกระจายอำนาจและความเป็นอิสระของท้องถิ่น จึงควรจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเทศบาลตำบล
เหตุผล
เนื่องจากปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลดอนหวาย มีรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณ พ.ศ.2550 จำนวน 9,308,108.02 บาท จำนวนประชากร 3,440 คน พื้นที่ 20.49 ตารางกิโลเมตร และมีสภาพความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้น เห็นว่ามีคุณสมบัติตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง ( ฉบับที่ 5 ) พ.ศ. 2546 ประกอบกับ มาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 แก้ไขเพิ่มเติมถึง ( ฉบับที่ 12 ) พ.ศ. 2546 จึงเห็นสมควรจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเทศบาลตำบล
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
1. พรบ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 แก้ไขเพิ่มเติมถึง ( ฉบับที่ 5 ) พ.ศ. 2546
- มาตรา 42 ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการเทศบาล อาจจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลขึ้นเป็นเทศบาลตำบลได้โดยทำเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย
องค์การบริหารส่วนตำบลที่ได้จัดตั้งเป็นเทศบาลตามวรรคหนึ่ง ให้พ้นสภาพแห่งสภาตำบล รวมทั้งให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลง และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยจัดตั้งขึ้นเป็นเทศบาลเป็นต้นไป
บรรดางบประมาณ ทรัพย์สิน สิทธิเรียกร้อง หนี้ พนักงานส่วนตำบล และลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลตามวรรคหนึ่ง ให้โอนไปเป็นของเทศบาลที่จัดตั้งขึ้นนั้น
บรรดาข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ได้ใช้บังคับใช้ในเรื่องใดอยู่ก่อนแล้วให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะได้มีการตราเทศบัญญัติในเรื่องนั้นขึ้นใหม่
2. พรบ. เทศบาล พ.ศ. 2496 แก้ไขเพิ่มเติมถึง ( ฉบับที่ 12 ) พ.ศ. 2546
- มาตรา 7 เมื่อท้องถิ่นใดมีสภาพอันสมควรยกฐานะเป็นเทศบาลให้จัดตั้งท้องถิ่นนั้นเป็นเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เทศบาลเป็นทบวงการเมือง มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น
- มาตรา 9 เทศบาลตำบลได้แก่ ท้องถิ่นซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลตำบล ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย
แผนงานรองรับภารกิจอำนาจหน้าที่เมื่อได้รับการจัดตั้งเป็นเทศบาลตำบล
โดยศักยภาพทางกายภาพขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนหวายเป็นพื้นที่ ที่มีความเจริญของชุมชนอย่างรวดเร็วมีการคมนาคมที่สะดวกคือติดกับถนนมิตรภาพ–หนองคาย ( ทางหลวงแผนดินหมายเลข 2 ) มีถนนคอนกรีตที่เชื่อมระหว่างหมู่บ้านทำให้การคมนาคมภายในตำบลสะดวกสบาย และเป็นพื้นที่ทางผ่านเข้าสู่ตัวอำเภอโนนสูง โดยมีบึงถนนหักซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่ให้ประชาชนใช้ในการทำการเกษตรและใช้อุปโภคบริโภค จากที่ตั้งของภูมิประเทศและทรัพยากรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างสมดุลเหล่านี้จะต้องมีกระบวนการในการบริหารจัดการอย่างดี มีการวางแผนงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดจากการขยายตัวของชุมชนที่อยู่อาศัยและแหล่งพาณิชยกรรม ซึ่งอาจส่งผลกระทบหลาย ๆ ด้านของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องสุขภาพอนามัยของประชาชน ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาเรื่องสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ปัญหาเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการจัดการศึกษา เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมและการป้องกันในการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น แผนงานและงบประมาณที่จะนำมารองรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาเหล่านี้คือ
ด้านการจัดให้มีน้ำสะอาดหรือการประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชน
1. แผนงานด้านการจัดให้มีน้ำสะอาดหรือการประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชน
การจัดให้มีน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภค เป็นความจำเป็นพื้นฐานที่มีความสำคัญมาก ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน แนวทางการพัฒนา การสาธารณูปโภคและการก่อสร้างอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลดอนหวายมีระบบประปาหมู่บ้านที่อยู่ในการดูแลรับผิดชอบ จำนวน 2 แห่ง คือระบบประปาบ้านดอนหวายมีพื้นที่ให้บริการครอบคลุม 5 หมู่บ้านคือ หมู่ที่ 1,2,3,4 และ 7 ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลดอนหวายเป็นผู้บริหารกิจการประปา และระบบประปาหมู่บ้านโนนมะกอก มีพื้นที่ให้บริการครอบคลุม 2 หมู่บ้าน คือหมู่ที่ 5 และ 6 ปัจจุบันการบริหารกิจการประปาดำเนินการโดยคณะกรรมการบริหารกิจการและบำรุงรักษาระบบประปาหมู่บ้าน โดยใช้แหล่งน้ำดิบจากบึงถนนหักซึ่งเป็นบึงขนาดใหญ่มีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ แต่เนื่องจากระบบประปาที่ให้บริการน้ำในการอุปโภคบริโภคแก่ประชาชนในพื้นที่ตำบลดอนหวายทั้ง 2 แห่งนี้เป็นระบบประปาระบบเก่าที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจ / ทรัพย์สินมาจากส่วนราชการเดิม คือ กรมอนามัย จึงมีข้อจำกัด เช่น สภาพเก่าชำรุดทรุดโทรม การวางท่อเมนไม่เป็นระบบ หรือเมื่อเกิดความเสียหายหรือชำรุดในส่วนระบบการผลิตน้ำประปา ไม่มีอะไหล่สำรองทำให้การบริหารจัดการระบบประปา ที่จะให้บริการน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคแก่ประชาชน ยังให้บริการได้ไม่ดีและทั่วถึงเป็นไปตามความต้องการของประชาชนผู้ใช้น้ำ ประกอบกับแหล่งน้ำดิบที่นำมาใช้ในการผลิตน้ำประปาสำหรับบริการประชาชน คือบึงถนนหักนั้น ยังขาดการจัดการดูแลเรื่องสภาพแวดล้อมมีการปล่อยสิ่งปฏิกูลมูลฝอย หรือน้ำเสียจากแหล่งชุมชนลงสู่แหล่งน้ำโดยตรง และในช่วงฤดูแล้งปริมาณน้ำในบึงมีน้อยสภาพบึงตื้นเขิน ทำให้ปริมาณน้ำดิบที่จะนำมาใช้สำหรับการผลิตน้ำประปามีจำนวนไม่พอเพียงแก่การบริการประชาชน
องค์การบริหารส่วนตำบลดอนหวาย เมื่อได้รับการจัดตั้งเป็นเทศบาลตำบลดอนหวายแล้วจะดำเนินการในด้านการจัดให้มีน้ำสะอาดหรือการประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชนดังนี้
1. การขุดลอกและปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ของบึงถนนหัก เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับใช้ในการผลิตน้ำประปาของตำบล ทั้งนี้รวมทั้งการรณรงค์ให้ประชาชนใส่ใจดูแลรักษาในด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีการปล่อยน้ำเสียและทิ้งสิ่งปฏิกูลมูลฝอยลงในแหล่งน้ำ
2. การก่อสร้าง ปรับปรุงซ่อมแซม ระบบประปาเดิมที่มีอยู่จำนวน 2 แห่ง คือ ระบบประปาบ้านดอนหวาย และระบบประปาหมู่บ้านโนนมะกอก ให้สามารถผลิตน้ำประปาเป็นน้ำที่สะอาดสำหรับการให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเพียงพอ เช่น - การก่อสร้างถังเก็บน้ำใสระบบประปาเพิ่มเติม ของระบบประปาบ้านดอนหวาย เพื่อให้สามารถมีน้ำสะอาดไว้บริการประชาชนได้อย่างเพียงพอ จำนวน 1 ถัง - ปรับปรุงซ่อมแซมถังเก็บน้ำ หอถังสูง ท่อเมนประปา ระบบการผลิตน้ำประปา (ติดตั้งระบบกรองน้ำที่ทันสมัย ) ให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ดีของระบบประปาทั้ง 2 แห่ง
3. การขยายท่อเมนเพื่อให้บริการระบบประปาให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ และรองรับการขยายตัวของชุมชน และเพิ่มขนาดท่อเมนของระบบประปาให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้มีแรงดันในการส่งน้ำไปในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลของระบบประปาทั้ง 2 แห่ง
2. งบประมาณที่คาดว่าจะใช้ในการดำเนินงานแผนงานด้านการจัดให้มีน้ำสะอาดหรือการประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชน
งบประมาณ เป็นจำนวนเงิน 5,000,000 บาท
3. การปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการและบุคลากรเพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ตามแผนงาน
ส่วนโยธาในตำแหน่ง
- ตำแหน่ง เจ้าพนักงานการประปา จำนวน 1 อัตรา
4. ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ
1. มีแหล่งน้ำที่ใช้เป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาที่สะอาดอย่างพอเพียง
2. ประชาชนได้อุปโภคบริโภคน้ำประปาที่มีคุณภาพสะอาดสามารถใช้ดื่มได้
3. คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น
4. เพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำประปาอย่างทั่วถึง
ด้านรักษาความสะอาดของถนนทางน้ำทางเดินและที่สาธารณะรวมทั้งกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
1. แผนงานด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลอย่างเป็นระบบ
องค์การบริหารส่วนตำบลดอนหวายมีแหล่งชุมชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น จึงทำให้เกิดปัญหาสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอย โดยปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในพื้นที่มีประมาณ 2 ตัน / วัน ซึ่งปัจจุบันท้องถิ่นเองได้มีการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่ โดยให้บริการประชาชนในการเก็บขนขยะในพื้นที่ผู้ใช้บริการประมาณ 480 ครัวเรือน จากจำนวนครัวเรือนในตำบล 974 ครัวเรือน และนำไปทิ้งยังสถานที่ทิ้งขยะที่ทางท้องถิ่นจัดหาไว้ โดยการดำเนินการมีพนักงานจัดเก็บขยะซึ่งดำเนินการโดยวิธีการจ้างเหมาแรงงาน จำนวน 3 คน รถขยะ 6 ล้อ ขนาด 1 ตัน จำนวน 1 คัน ดำเนินการเก็บขยะมูลฝอยในพื้นที่ ซึ่งการให้บริการเก็บขนขยะยังไม่พอเพียงและทั่วถึงเกิดขยะตกค้างประจำวัน และแนวโน้มปริมาณขยะจะเพิ่มสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับการดำเนินการกำจัดขยะขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนหวาย จะดำเนินการโดยวิธีฝังกลบโดยมีสถานที่ทิ้งขยะชั่วคราว ซึ่งสถานที่ทิ้งขยะดังกล่าวยังไม่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมขึ้นได้ในอนาคต อันเนื่องจากงบประมาณที่มีอยู่จำกัดและบุคลากรผู้รับผิดชอบที่ยังมีไม่เพียงพอ ทำให้การบริหารจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลภายในตำบลยังมีการดำเนินการไม่ถูกต้องและเป็นระบบเท่าที่ควรจะเป็น
องค์การบริหารส่วนตำบลดอนหวาย เมื่อได้รับการจัดตั้งเป็นเทศบาลตำบลดอนหวาย แล้วจะดำเนินการในด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลอย่างเป็นระบบ ดังนี้
1. การจัดการขยะมูลฝอยจะเน้นเรื่องการรีไซเคิล และการนำกลับมาใช้ใหม่ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดปัญหาการเพิ่มของขยะมูลฝอย ซึ่งจะส่งผลถึงสถานที่ทิ้งขยะ โดยจัดทำโครงการรณรงค์และสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนร่วมมือในการคัดแยกขยะ เพื่อง่ายต่อการจัดเก็บขยะโดยหลักจะแยกเป็น ขยะประเภทย่อยสลายได้ และขยะประเภทย่อยสลายไม่ได้ โดยที่ขยะประเภทย่อยสลายไม่ได้จะสามารถแยกนำไปเป็นขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้คือขยะที่ขายได้ และขยะประเภทอันตรายซึ่งจะมีวิธีการจัดเก็บที่ถูกวิธีต่อไป ขยะประเภทที่ย่อยสลายได้ก็อาจนำไปทำปุ๋ยชีวภาพและพัฒนาในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้
2. จัดหาครุภัณฑ์วัสดุอุปกรณ์ เช่น รถบรรทุกขยะ ถังขยะ ถุงพลาสติกดำ ไม้กวาด รถเข็นสำหรับการจัดการขยะมูลฝอยและการรักษาความสะอาดภายในพื้นที่ตำบล
3. ปรับปรุงสถานที่ทิ้งขยะของตำบลให้ถูกหลักสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม
2. งบประมาณที่คาดว่าจะใช้ในการดำเนินงาน แผนงานด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลอย่างเป็นระบบ
งบประมาณ เป็นจำนวนเงิน 3,000,000 บาท
3. การปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการและบุคลากรเพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ตามแผนงาน
ส่วนสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
- ตำแหน่ง เจ้าพนักงานสุขาภิบาล จำนวน 1 อัตรา
- ตำแหน่ง คนงานประจำรถขยะ จำนวน 3 อัตรา
4. ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ
1. พื้นที่ของเทศบาลตำบลดอนหวายปราศจากขยะและมลพิษทางสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอย
2. พื้นที่เทศบาลตำบลดอนหวายสะอาดถูกสุขลักษณะ
3. คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น
4. ไม่มีแหล่งเพาะเชื้อโรคหรือแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์พาหะนำโรค
5. สิ่งแวดล้อมในพื้นที่เทศบาลตำบลดอนหวายไม่ถูกทำลาย
6. สามารถลดปริมาณขยะจากแหล่งชุมชนและที่สาธารณะต่าง ๆ
7. ทำให้การจัดการปัญหามลภาวะแวดล้อมเป็นพิษ กลิ่นเหม็น สารเคมี ขยะ สิ่งปฏิกูลมูลฝอยต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพในการรองรับการขยายตัวของชุมชน และแหล่งที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นในอนาคต
ด้านงานทะเบียนราษฎร
1. แผนงานด้านการจัดตั้งสำนักงานทะเบียนราษฎร
พระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 ประกอบกับพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พุทธศักราช 2542 ได้บัญญัติอำนาจหน้าที่ให้เทศบาลต้องจัดตั้งสำนักงานทะเบียนราษฎร เพื่อให้บริการประชาชนในด้าน การแจ้งเกิด การแจ้งตาย การขอเลขที่บ้าน การย้ายที่อยู่ การย้ายเข้า การย้ายออก แก่ประชาชน
ด้วยเหตุผลดังกล่าวเมื่อได้รับการจัดตั้งเป็นเทศบาลตำบลดอนหวายแล้ว เทศบาลตำบลดอนหวายจะได้จัดตั้งสำนักงานทะเบียนราษฎร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ในการอำนวยบริการแก่ประชาชนในด้านต่าง ๆ ให้สูงขึ้นตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนในเขตเทศบาลตำบลดอนหวายสะดวกสบายและประหยัดเวลาในการแจ้งเกิด การแจ้งตาย การขอเลขที่บ้าน การย้ายที่อยู่ การย้ายเข้า การย้ายออก เป็นต้น เทศบาลตำบลดอนหวายจึงจะจัดตั้งสำนักงานทะเบียนราษฎรเพื่อให้บริการแก่ประชาชนโดยตั้งเป้าหมายว่าจะให้บริการภายในเขตเทศบาลตำบลดอนหวาย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80% ของประชากรโดยประมาณ
องค์การบริหารส่วนตำบลดอนหวาย เมื่อได้รับการจัดตั้งเป็นเทศบาลตำบลดอนหวาย แล้วจะดำเนินการในด้านการจัดตั้งสำนักงานทะเบียนราษฎร ดังนี้
1. จัดหาวัสดุครุภัณฑ์ ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ที่ต้องมีการดำเนินการในเรื่องงานทะเบียนราษฎร โดยการประสานและการสนับสนุนในการดำเนินงานจากสำนักงานทะเบียนอำเภอโนนสูง
2. แต่งตั้งมอบหมายหน้าที่นายทะเบียนท้องถิ่น หรือผู้ช่วยนายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบล ดอนหวาย ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลดอนหวาย ณ สำนักงานทะเบียนอำเภอโนนสูง
2. งบประมาณที่คาดว่าจะใช้ในการดำเนินงาน แผนงานด้านการจัดตั้งสำนักงานทะเบียนราษฎร
งบประมาณ เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท
3. การปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการและบุคลากรเพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ตามแผนงาน
สำนักปลัด ฯ
- ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่บริหารงานทะเบียนและบัตร จำนวน 1 อัตรา
4. ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ
ประชาชนได้รับความสะดวกด้านงานทะเบียนราษฎร เช่น การแจ้งเกิด การแจ้งตาย การขอเลขที่บ้าน การย้ายที่อยู่ การย้ายเข้า การย้ายออก ซึ่งจะมีสำนักงานทะเบียนราษฎรของเทศบาลไว้บริการประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะแยกจากสำนักงานทะเบียนของอำเภอโนนสูง
ด้านให้มีโรงฆ่าสัตว์
1. แผนงานการจัดการเกี่ยวกับโรงฆ่าสัตว์
ในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลดอนหวายมีโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งมีเอกชนเป็นเจ้าของผู้ดำเนินการ จำนวน 1 แห่ง โดยองค์การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติตามกฎหมายในพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2535 ในอันที่จะคุ้มครองผู้บริโภคเนื้อสัตว์ที่นำมาจำหน่ายให้กับประชาชน ให้มีความปลอดภัยจากสิ่งปนเปื้อนเช่นสารตกค้าง ยา และโรคสัตว์ต่าง ๆ เป็นต้น โรงฆ่าสัตว์และกระบวนการฆ่าสัตว์เพื่อบริโภคจึงต้องได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล กระบวนการตรวจสอบการฆ่าสัตว์ทั้งก่อนฆ่าและหลังฆ่าโดยสัตว์แพทย์ตรวจโรคสัตว์การตรวจสอบคุณภาพเนื้อสัตว์ ตลอดจนกระบวนการฆ่าสัตว์และการนำเนื้อสัตว์ไปจำหน่าย จึงต้องมีการตรวจสอบมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลดอนหวายยังไม่มีบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้อง ดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะตำแหน่งสัตว์แพทย์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตรวจโรคสัตว์ จึงทำให้การดำเนินงานในด้านการจัดการเกี่ยวกับโรงฆ่าสัตว์ยังไม่เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดเท่าที่ควร
องค์การบริหารส่วนตำบลดอนหวาย เมื่อได้รับการจัดตั้งเป็นเทศบาลตำบลดอนหวาย แล้วจะดำเนินการในด้านการจัดการเกี่ยวกับโรงฆ่าสัตว์ ดังนี้
- การพัฒนาโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการผลิตเนื้อสัตว์ให้มีมาตรฐาน ทำการผลิตเนื้อสัตว์ให้ถูกต้องตามหลักการที่ดี สำหรับโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการผลิตเนื้อสัตว์
2. งบประมาณที่คาดว่าจะใช้ในการดำเนินงาน แผนงานการจัดการเกี่ยวกับโรงฆ่าสัตว์
งบประมาณ เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท
3. การปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการและบุคลากรเพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ตามแผนงาน
ส่วนสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
- ตำแหน่ง สัตว์แพทย์ จำนวน 1 อัตรา
- ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่เทศกิจ จำนวน 2 อัตรา
4. ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ
1. การที่มีโรงฆ่าสัตว์ที่มีมาตรฐานซึ่งมีความสะอาดปลอดภัย ทำให้ประชาชนในตำบลและประชาชนทั่วไปได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่สะอาดและปลอดภัยจากเชื้อโรค
2. ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณโรงฆ่าสัตว์ มีสุขภาพอนามัยที่ดีจากมลภาวะสิ่งแวดล้อม
3. ก่อให้เกิดรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่มีอาชีพเกี่ยวกับการค้าสัตว์
4. นำภาษีค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บได้จากโรงฆ่าสัตว์มาพัฒนาท้องถิ่นเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในภาพรวม
ด้านให้ราษฎรได้รับการศึกษาอบรม
1. แผนงานด้านการจัดการศึกษา
ตามพระบัญญัติการศึกษาแห่งชาติกำหนดให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิจัดการศึกษาในระดับใดระดับหนึ่ง หรือทุกระดับตามความพร้อมความเหมาะสม และความต้องการภายในท้องถิ่นประกอบกับพระราชบัญญัติกำหนดแผนและ ขั้นตอนการกระจายอำนาจ ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 และพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 กำหนดหน้าที่ให้ราษฎรได้รับการศึกษาอบรม ปัจจุบันในการจัดการศึกษาให้กับประชาชนในพื้นที่ตำบล มีสถาบันการศึกษาในสังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 2 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านดอนหวาย ,โรงเรียนบ้านโนนมะกอก , ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จำนวน 1 แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดกรมการศาสนา จำนวน 1 ศูนย์ คือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดดอนหวาย ( ปัจจุบันถ่ายโอนภารกิจให้กับท้องถิ่นแล้ว ) แต่ในการสนับสนุนส่งเสริมในด้านจัดการศึกษายังไม่สามารถดำเนินการให้เป็นระบบ เป็นมาตรฐานมีคุณภาพอย่างเต็มที่
องค์การบริหารส่วนตำบลดอนหวาย เมื่อได้รับการจัดตั้งเป็นเทศบาลตำบลดอนหวาย แล้วจะดำเนินการในด้านการจัดการศึกษา ดังนี้
1. การจัดการศึกษาในระดับก่อนวัยเรียนโดยมุ่งพัฒนาความพร้อม ให้กับเด็กก่อนวัยเรียน ได้รับการพัฒนาเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดดอนหวาย โดยดำเนินการดังนี้
- ปรับปรุงอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้มีมาตรฐานเพื่อรองรับการขยายตัว ของชุมชนและความต้องการของประชาชน
- จัดหาวัสดุอุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอน ครุภัณฑ์การศึกษาให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
- ส่งเสริมให้เด็กก่อนวัยเรียนในพื้นที่ได้มีโอกาสเข้าเรียน ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้อย่างทั่วถึงโดยไม่มีภารในเรื่องค่าใช้จ่าย ( อาหารเสริมนม อาหารกลางวัน )
- การพัฒนาบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้ได้รับการอบรม และศึกษาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง
- การพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้ได้มาตรฐานการจัดการศึกษา รวมทั้งปรับปรุงระบบการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้ได้มาตรฐาน
- การสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน สถาบันอื่นทางสังคมได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
2. การสนับสนุนส่งเสริมการจัดการศึกษาของโรงเรียนในเขตพื้นที่ ทั้ง 2 แห่ง ให้ได้รับมาตรฐาน ตามอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นและถ่ายโอนโรงเรียนเมื่อมีความพร้อม
3. การสนับสนุนส่งเสริมการจัดการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยโดยให้เด็กเยาวชนและประชาชนให้ได้รับการศึกษาพัฒนาทักษะและความรู้อย่างต่อเนื่องทั่วถึงตามความต้องการ โดยดำเนินการดังนี้
- จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีสารสนเทศประจำตำบล จำนวน 1 แห่ง โดยจัดให้มีคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ตไว้บริการเพื่อให้เด็กเยาวชนและประชาชน สามารถเข้าถึงและรับรู้ข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว
- การส่งเสริมการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยสำหรับเด็ก เยาวชน ประชาชนผู้สนใจตามความถนัดหรือความต้องการให้เหมาะสม
2. งบประมาณที่คาดว่าจะใช้ในการดำเนินงาน แผนงานด้านการจัดการศึกษา
งบประมาณ เป็นจำนวนเงิน 5,000,000 บาท
3. การปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการและบุคลากรเพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ตามแผนงาน
ส่วนการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม
- ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ศูนย์เยาวชน จำนวน 1 อัตรา
4. ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ
1. มีการกระจายโอกาสการรับบริการพัฒนาความพร้อมให้แก่เด็ก และเยาวชนในพื้นที่อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ
2. เด็กและเยาวชนได้รับการเตรียมความพร้อมอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับวัย ให้สามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้อย่างมีปะสิทธิภาพ
3. ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและเป็นไปตามความต้องการของชุมชน